วัดพระธาตุหริภุญไชย
พระธาตุปีไก่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลำพูน
วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา พระบรมธาตุหริภุญไชยภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ-บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เดิมทีเป็นพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ ๓๓ ต่อจาก พระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย บริเวณกำแพงพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราชได้แบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ในกาลต่อมาภายหลังพระเจ้าอาทิตยราช ได้ถวายราชวังของพระองค์ให้เป็นสังฆารามไว้กับทางพระพุทธศาสนาเมื่อถวายเป็นสังฆารามแล้ว ได้รื้อกำแพงชั้นนอกออกแล้วปั้นสิงห์คู่หนึ่งไว้ที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เป็นสิงห์ขนาดใหญ่ประดับเครื่องทรงยืนอ้าปากประดิษฐานไว้แทน ตามคติโบราณทางเหนือซึ่งนิยมสร้างสิงห์เฝ้าวัด วัดพระธาตุหริภุญชัย จึงมีกำแพงสองชั้นตามรูปลักษณ์ของพระราชวังเดิมของพระเจ้าอาทิตยราช คือ รอบบริเวณวัดชั้นนอกชั้นหนึ่ง และก่อกำแพงเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นกำแพงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนมีถนนล้อมรอบสี่ด้าน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตูซึ่ง ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็น ชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆารามวิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่ เรียกว่า วิหารหลวง เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2466 ความสวยงามภายใน วัดพระธาตุหริภุญชัยมีมากมาย ทั้ง วิหารหลวง สุวรรณเจดีย์ หรือปทุมวดีเจดีย์ หอระฆัง และ ซุ้มประตู ให้ได้ชมความงดงาม โดยในทุกๆ วันเพ็ญเดือน 6 จะมีการจัดงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี ซึ่งนอกจากงานนี้ ก็ยังมีอีกงานที่ยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้กัน คือ งานโคมแสนดวง ที่จะประดับโคมไฟสวยงามมากๆ พื้นที่ภายในวัดจะเต็มไปด้วยโคมล้านนาหลากหลายสีสัน โดยงานนี้จะจัดในช่วง วันลอยกระทง ของทุกๆ ปี
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด
ประตูโขง สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะซ่อมแซมบ่อยครั้งมาก จนแทบไม่เหลือร่องรอยของอิฐและปูนปั้นโบราณเดิม เหลือเพียงลวดลายจางๆ บางส่วนของวัสดุที่ก่อพอกทับใหม่เป็นปูนขาว หลักฐานเท่าที่เหลืออยู่มีจารึกติดไว้ว่าบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2499
ส่วนผนังอาคารเจาะช่องทางเดินเป็นรูปโค้งมน เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลตะวันตก ผ่านทางศิลปกรรมพุกามเข้าสู่ล้านนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เหนือช่องประตูโค้งประดับด้วยแผ่นหน้าบันขนาดใหญ่ ลายปูนปั้นหลุดหายไปเหลือแต่กรอบตัวเหงาที่มีปลายสองข้างเป็นหางวัน ส่วนโค้งด้านบนประดับฝกเพกา สองข้างประตูทางเข้ามีเสาประดับกรอบซุ้มย่อเก็จ 4 ชั้น ตกแต่งหัวเสาด้วยลายบัวคอเสื้อ ประจำยามอกกาบบัวเชิงล่าง ภายในกรอบกระจังกลีบบัวผูกเป็นลายช่อประดิษฐ์ มีดอกเบญจมาส ดอกโบตั๋นผูกรวมเป็นช่อ มีก้านใบแตกแขนงออกมา คล้ายกับลายใบไม้ ที่พบในภาพเขียนสีบนภาชนะเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
ส่วนยอดเป็นทรงปราสาทหลายชั้นซ้อนกัน ชั้นแรกเป็นบัวถลาตกแต่งบัญชรวงโค้ง ที่มุมมีการย่อเก็จล้อกับผนังอาคารตอนล่าง ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุจำลองและชั้นเชิงบาตรซ้อนกัน ที่ซุ้มบันแถลงตกแต่งด้วยลายช่อ ลายเฟื่องอุบะ แต่ละชั้นที่มุมประดับด้วยสถูปจำลองทรงสี่เหลี่ยม ยอดบนสุดเป็นดอกบัวสี่เหลี่ยม
ราชสีห์ อยู่หน้าประตูโขง 1 คู่ สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นสิงห์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ยืนอ้าปากกว้างแลบลิ้นยาว ก่ออิฐฉาบปูนระบายสีแดง บางส่วนปิดทองประดับกระจกสี เดิมเคยมีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวราชสีห์ไว้ พร้อมสร้างศาลามีหลังคาคลุม ภายหลัง พ.ศ. 2490 ครูบาอภิชัยขาวปี ได้นำไม้จากศาลาไปสร้างเป็นตู้ยาสังเค็ดลายรดน้ำ มีหัวเสืออ้าปากตรงปุ่มเปิดปิด ถวายตามวัดต่างๆ ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย (พบ 1 ตู้ที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา)
วิหารหลวง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2055 โดยพระเมืองแก้ว ต่อมาเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ได้ทำการบูรณะพระวิหาร จากหลักฐานภาพเก่า รูปทรงวิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดผนังโล่งแบบอาคารโถง (วิหารเปื๋อย) มีแนวผนังระเบียงก่ออิฐฉาบปูนเตี้ยๆ รับกับแนวชายคาด้านนอกสุด โครงสร้างหลังคาเป็นขื่อม้าต่างไหม หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ลดชั้นซ้อนกัน 3 ชั้น ชายหลังคาอ่อนโค้งห่มคลุมลงมาค่อนข้างมาก หน้าบันแกะไม้ประดับลวดลายปูนปั้นในกรอบช่องลูกฟักแบบล้านนา ปลายปั้นลมเป็นรูปตัวเหงา ตกแต่งด้วยการแกะสลักไม้ประดับกระจก ผนังวิหารด้านหลังพระประธานเป็นไม้ ปิดตั้งแต่หน้าจั่วลงมาถึงระดับแผงคอสอง รองรับด้วยเสาไม้กลมหรืออาจเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนเขียนลายรดน้ำปิดทองลวดลายพรรณพฤกษา บริเวณขื่อ แป กลอน อกไก่ โครงสร้างไม้หลังคาทั้งหมดภายในอาคารเปิดเปลือย เครื่องไม้ทั้งหมดประดับลายคำน้ำแต้ม ส่วนฐานชุกชีรองรับพระพุทธรูปประธานอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูน มีร่องรอยประดับลวดลายพรรณพฤกษาลงรักปิดทอง แต่ไม่ปรากฏพระประธาน มีเพียงพระอันดับ 2 องค์ มีแท่นบูชาในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีธรรมาสน์ปราสาทสำหรับแสดงธรรม พื้นวิหารฉาบปูน
วิหารพระพุทธ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยกล่าวว่าสร้างโดยพระเมืองเกษเกล้า โดยโปรดฯ ให้สร้างวิหารประจำทางทิศใต้ของพระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ลงรักปิดทองสมัยล้านนา เรียกพระพุทธ จากหลักฐานภาพเก่าวิหารเดิม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยล้านนา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นชั้นลดซ้อนกัน 2 ตับ มุงกระเบื้องดินขอ ด้านหน้าวิหารมีระเบียงเตี้ยๆ ฉาบปูน
ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างหลังคาขื่อม้าต่างไหม กรุเพดานปิดทึบ ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก เสาวิหารเป็นเสากลมฉาบปูนประดับกระจก พื้นด้านในปูกระเบื้องลายดอกซึ่งได้รับพระราชทานมาจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในภายหลัง ส่วนบนผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมสีน้ำพลาสติกเรื่องมโหสถชาดก ฝ้าเพดานปิดทองล่องชาด เขียนรูปนางมณีเมขลาและเทพชุมนุม ฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ประดับกระจก ด้านหลังมีบันไดขนาดเล็ก 2 ข้าง วิหารพระพุทธได้รับการบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2501
วิหารพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราช เดิมมีพระเจ้าทันจิต เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อยู่คู่กันภายในวิหาร แต่ได้มีการเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 จากภาพเก่าเดิมมีสัญลักษณ์รูปเสือของครูบาศรีวิชัยอยู่ที่หน้าบัน ปัจจุบันยังมีรูปช้างเอราวัณ (เหลือเพียงเศียรเดียว) เนื่องจากมีการซ่อมแซมหลายครั้ง ฐานชุกชีกับกรอบซุ้มประดิษฐานพระเจ้าทันใจประดับด้วยกระจกสี ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มนาคเกี้ยว 3 ชั้น ประดับปูนปั้นรูปดอกไม้
วิหารพระละโว้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าละโว้ ซึ่งตำนานมุขปาฐะของวัดธงสัจจะเล่าว่าพระนางจามเทวีได้อัญเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรมาจากเมืองละโว้ 2 องค์ องค์เล็กประดิษฐานในวัดหลวง (คือวัดพระธาตุหริภุญชัย) แล้วอธิษฐานตุงให้กวัดแกว่งไปทั่วเมือง หากตุงไปติด ณ บริเวณใด จะโปรดฯ ให้สร้างวัดอีกแห่ง ณ บริเวณนั้น เมื่อเสี่ยงทายได้สถานที่แล้วจึงสร้างวัดตุงสัจจะ (วัดธงสัจจะ) พร้อมเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ไปประดิษฐานในวิหารวัดธงสัจจะ
หอธัมม์หลวง (หอพระไตรปิฎก) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย จารึกหริปุญชปุรีกล่าวว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2053 โดยพระเมืองแก้วกับพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา ทรงให้สร้างพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ พร้อมอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ 420 และพระพุทรูปทองคำ นำมาประดิษฐานในหอธัมม์ที่ทรงสร้างขึ้น ทรงให้เงินทุนเพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายซื้อหมากเหมี้ยงและข้าวบูชาพระธรรม ทรงให้ภาษีนาปีละ 2,000,000 เบี้ยเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ดูแลหอธัมม์ ทรงถวายข้าคน 12 ครอบครัว เพื่อปฏิบัติรักษาหอธัมม์และพระไตรปิฎก ทรงห้ามใช้คนเหล่านี้ทำงานอื่น ตอนท้ายขอบุญกุศลให้พระองค์เจริญด้วยโภคสมบัติ มีความแตกฉานในอรรถธรรม ที่สุดให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และอุทิศกุศลส่วนหนึ่งให้พระบิดา อัยกา อัยกี อินทร์ พรหม และเทวดาอารักษ์แห่งเมืองหริภุญชัยให้รักษาพระพุทธศาสนาในสถานที่นี้สืบไป
หอธัมม์หลวงเป็นอาคารทรงสูงสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดสูง ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ 2 ชั้น มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตลอดทั้งหลังแกะลวดลายฉลุไม้ปิดทองประดับกระจก หลังคาทำลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ บนสันหลังคาประดับด้วยบราลี (ปราสาทเฟื้อง) หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะคล้ายแผ่นดีบุก หน้าบันแกะสลักลวดลายภายในช่องตารางหน้าจั่วแบบขื่อม้าต่างไหม ภายในแกะสลักเป็นรูปหน้ากาล บานทวารแกะสลักเป็นเทวดายืนแท่นถือพระขรรค์ ภายในช่องลูกฟักใต้บานหน้าต่างรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ ตกแต่งผนังอาคารด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บันไดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจากพื้นดินสู่ฐานเขียง มีประตูทางเข้าทางเดียว จากนั้นไม่ปรากฏบันได บันไดช่วงที่ 2 ทำเป็นบันไดนาคเล็กๆ จากอาคารปูนสู่อาคารไม้ชั้นบน สันนิษฐานว่าหอธัมม์องค์ปัจจุบันน่าจะได้รับการบูรณะสมัยพระเจ้ากาวิละมาฟื้นฟูเมืองลำพูน และเป็นต้นแบบให้แก่หอธัมม์วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ มีการนำสิงโตจีนคาบแก้วด้วยหินอับเฉามาประดับที่หัวเสาบันไดชั้นล่าง ยุคครูบาศรีวิชัยมีการนำรูปตัวมอมมาประดับไว้ที่ผนังด้านข้างบันได
เขาพระสุเมรุจำลอง เขาพระสุเมรุจำลองตั้งอยู่บนพื้นดินไม่มีฐานรองรับ ส่วนล่างก่ออิฐถือปูนเป็นทรงกลมระบายสีชาดแดง ส่วนนี้คือเขาตรีกูฏ ด้านบนหล่อด้วยทองสำริดลดหลั่นขึ้นไปเป็นเขาวงกต 7 ชั้น ลักษณะของการหล่อเป็นการหล่อทีละชิ้นและนำมาประกอบกันภายหลัง ส่วนนี้คือเขาสัตตบริภัณฑ์ ระหว่างเขาแต่ละชั้นนั้นมีเกษียรสมุทรคั่นสลับ แกะสลักเป็นรูปป่าไม้ สัตว์ เทวดา และอสูร ส่วนยอดบนสุดเป็นปราสาทหล่อสำริดปิดทองขนาดเล็ก มีรูปทรงคล้ายโคมปราสาทสำริด แต่ละด้านมีซุ้มประตูโขงเปิดโล่งถึงกันหมด แทนไพชยนต์มหาปราสาทของพระอินทร์
หอกังสดาล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระแก้วขาว ซึ่งเป็นอาคารทรงมณฑป เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระเสตังคมณีก่อนถูกอัญเชิญไปยังเชียงใหม่ เมื่อชาวบ้านรื้อที่เก็บกังสดาลและหอพระแก้วขาว ได้พบพระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนาหลายองค์ เมื่อนำมาขัดทำความสะอาดแล้วเหมือนนาก ชาวบ้านจึงเรียกหอพระว่าหอพระนาก (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) ส่วนกังสดาลเดิมแขวนอยู่ข้างหน้าหอพระแก้วขาว มีจารึกว่าสร้างหล่อเมื่อ พ.ศ. 2403 โดยครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ หล่อที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ และนำมาถวายบูชาพระธาตุหริภุญชัย
วิหารพระบาท 4 รอย ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ สร้างโดยครูบาศรีวิชัย เป็นวิหารโถงขนาดย่อม หน้าบันแกะสลักไม้ระบายสีทองบนพื้นหลังกระจกจืน เป็นรูปเทพนมอยู่ตอนกลาง ท่านกลางลายพรรณพฤกษา ช่อกระหนกหางโต มีหนุมาน (หรมาร) 4 ตัว ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่จำลองมาจากพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
วิหารพระเจ้ากลักเกลือ (พระเจ้าบอกเกลือ, พระเจ้าแดง) สร้างตามตำนานที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันหมากสมอ ณ ที่นี้ โดยทิ้งกลักเกลือ ณ บริเวณที่ตั้งวิหารนี้ สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นวิหาร หลังคาวิหารมีการชักชายหลังคาห่มคลุมแบบปีกนกอันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ผิดแปลกจากวิหารล้านนาทั่วไป ภายในประดิษฐานพระเจ้ากลักเกลือหรือพระเจ้าบอกเกลือ ประทับนั่งปางมารวิชัย เนื่องจากองค์พระระบายสีชาดจึงนิยมเรียกว่าพระเจ้าแดง ผนังเขียนภาพจอมเจดีย์ทั้ง 8 แห่ง ขณะที่ทำการบูรณะพบเม็ดพระศกพระพุทรูปขนาดมหึมาร่วงหล่นหลายชิ้น
วิหารพระไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานในท่าตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาวางแปไม่แนบพระพักตร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธไสยาสน์ ส่วนพระอรหันต์ล้อมเฝ้าอยู่เป็นวงตามที่กล่าวในโคลงได้หายไป
วิหารพระเจ้าพันตน ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก วิหารเป็นทรงอุดทึบแบบมหาอุตม์ มีประตูหน้าต่างเข้าด้านหน้าด้านเดียว เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลที่ญาติโยมนำมาถวายสักการะพระธาตุ ในช่วงบูรณะเมื่อเปิดประตูมาก็พบพระพุทธรูปเบียดเสียดแน่นขนัด แทบไม่พอบรรจุ พบแม้กระทั่งบริเวณขื่อใต้ชั้นหลังคาทุกซอกทุกมุม สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว
สุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ ชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระนางปทุมวดี มเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นภายหลังจากพระเจ้าอาทิตยราชสร้างพระธาตุหริภุญชัยได้ 4 ปี ชาวลำพูนเรียก พระธาตุเหลี่ยม ธาตุเหลี่ยม กล่าวว่าเดิมมีฟ้อนสมโภชในเดือน 4 เหนือ เวลาหลังเก็บเกี่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันพิธีนี้ได้สูญหายไป
เจดีย์เชียงยัน (เจดีย์แม่ครัว) ตั้งอยู่นอกเขตพุทธาวาส ทางทิศเหนือของพระธาตุหริภุญชัย บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) มีตำนานว่าสมัยหริภุญชัยบริเวณนี้เป็นเขตปฏิบัติธรรมของภิกษุณีและอุบาสิกา ที่มาช่วยทำครัวเลี้ยงคณะศรัทธาขณะก่อสร้างพระธาตุหริภุญชัยกับสุวรรณเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จพวกแม่ครัวจึงนำเศษอิฐและวัสดุที่เหลือมาสร้างเจดีย์เชียงยัน จึงมีอีกชื่อว่าเจดีย์แม่ครัว ยังมีสระล้างครัวอยู่หน้าอุโบสถและอุโบสถภิกษุณีเป็นหลักฐานยืนยัน
อุโบสถ ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ มีมุขยื่นด้านหน้า หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงพาไลด้านเหนือ-ใต้ หน้าบันแกะสลักไม้บนพื้นหลังกระจกจืน แกะเป็นรูปช้างเอราวัณใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและลายพรรณพฤกษา ค้ำยันรูปหนุมาน (หรมาน) สู้กัน ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ภายในมีโขงพระเจ้าประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยสำริดลงรักปิดทอง สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช-พญายอดเชียงราย เดิมประดิษฐานอยู่วัดหนองหนาม ต. บ้านแป้น อ. เมือง จ. ลำพูน ซึ่งเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัยจนถึงปัจจุบัน อุโบสถนี้ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในเขตตำบลในเมืองทั้งหมดช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา
วิหารพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา) ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) หน้าบันแกะสลักไม้เป็นรูปลายสับปะรด อันเป็นผลงานการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานรูปพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว
อุโบสถภิกษุณี ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ระหว่างวิหารพระมหากัจจายนะกับมณฑปพระอัฏฐารส ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะระหว่าง พ.ศ. 2473-2475 เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา หน้ากาล นาคเกี่ยวกระหวัด มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก ซุ้มประตูแบบบันแถลงซ้อนกัน 2 ชั้น มีหน้ากาลที่ยอดซุ้มและเทพนมตอนกลาง บานประตูเขียนรูปเทวดารดน้ำปิดทอง สิ้นเงิน 6,389 รูเปีย 46 สตางค์
มณฑปพระอัฏฐารส ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ก่อเป็นทรงมณฑป ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาสูงซ้อนกัน 3 ชั้น ผลงานการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ภายในประดิษฐานพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน สูง 18 ศอก เดิมเป็นพระพุทธรูปประทับยืนสูง 18 ศอก หุ้มด้วยทองคำเปลวเปล่งปลั่ง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางวัดเกรงจะมีคนมาลักลอบขโมยทองจากพระอัฏฐารสจึงนำปูนหุ้มพอกทับองค์เดิมข้างใน เปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแทน
วิหารสะดือเมือง ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณคณะสะดือเมือง (วัดสะดือเมือง) ภายในวิหารประดิษฐานเสาสะดือเมืองลำพูนแลพระพุทธรูปศิลปะล้านนาประทับนั่งปางมารวิชัย 3 องค์
วิหารพระไสยาสน์ ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณคณะหลวง (วัดหลวง) ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งและที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เพื่อคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย ครั้งแรกใช้สถานที่บริเวณศาลบาตรมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุและศาลาอีกหลังหนึ่งตรงมุมเดียวกัน เรียกว่า ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุหริภุญชัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัด จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานนี้และประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
เมื่อกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่แล้วเสร็จใน พงศ. 2517 แล้วขนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาคและโบราณวัตถุที่ขนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาและจัดแสดงที่วัดพระธาตุหริภุญชัย คือ พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว และอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ภายในวิหารคต ทั้งหมดของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และ เล่มที่ 96 ตอนที่ 185 ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2522