พิกุล
พิกุล เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีป เอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเชีย อินโดนีเซีย รวมถึงในหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ปัจจุบันมีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย หมู่เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย รวมไปถึงเขตร้อนทั่วๆ ไปสำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ คนไทยนิยมปลูกต้นพิกุลเอาไว้ในบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทวดาคอยสิงสถิตอารักขา และยังเป็นไม้ยืนต้น ซึ่งมีอายุยืนนาน จึงส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยมีอายุยืนนาน และแข็งแรง อีกทั้งดอกพิกุลก็ยังมีกลิ่นหอมที่คงทน แม้จะร่วงหล่นจากต้นไปแล้วหลายวัน เชื่อกันว่าควรปลูกต้นพิกุลเอาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อีกทั้งยังควรลงมือปลูกในวันจันทร์ หรือวันเสาร์ และจะดีที่สุดหากผู้ลงมือปลูกเป็นสตรี เนื่องจากชื่อพิกุลนั้นน่าจะเป็นชื่อที่เหมาะหรือถูกโฉลกกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในประเทศอินเดีย จะพบต้น Bakul หรือพิกุลได้ในฝั่งขวาของทางเข้าวัดเกือบทุกที่ แทนสัญลักษณ์ของผู้ชาย ในขณะที่ต้น Chalta (Dillenia indica) ซึ่งถือเป็นตัวแทนของเพศหญิงนั้น จะอยู่ทางฝั่งซ้ายของทางเข้าวัด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พิกุลเป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี รูปไข่กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบเป็นคลื่น ดอกเดี่ยว อยู่รวมกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบ กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น กลีบดอกประมาณ 24 กลีบ เรียงซ้อนกันโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย ดอกสีขาว เมื่อใกล้โรยจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ผลสีเหลือง รสหวานอมฝาด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย
- ดอก มีกลิ่นหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เข้ายาหอม ยานัตถุ์ แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดอกพิกุลตามสรรพคุณยาไทย จัดเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้ง 5 หรือใช้ผสมกับดอกไม้อื่น ที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงา
- ผลดิบและเปลือก ฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
- เปลือกต้น รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้เหงือกอักเสบ
- ใบ รสเบื่อฝาด แก้กามโรค แก้หืด ฆ่าพยาธิ
- เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก
- ราก มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม
- แก่น มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต ยาแก้ไข้
- ขอนดอก เป็นเครื่องยาไทย อาจได้จากต้นพิกุลหรือตะแบกต้นแก่ๆ มีเชื้อราเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ แต่โบราณว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่า ขอนดอกมีกลิ่นหอม รสจืด มีสรรพคุณบำรุงตับ ปอด และหัวใจ บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภ์รักษา) ทำให้หัวใจชุ่มชื่น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
- ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล
- ฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ การศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล
- ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก
พิกุล นับเป็นไม้ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากบางตอนของบทประพันธ์ในยุคก่อน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นอิเหนา ขุนช้างขุนแผน หรือรามเกียรติ์ มักสอดแทรกดอกพิกุลเข้าไป เมื่อพรรณนาถึงดอกไม้ต่างๆ พิกุลเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้มงคล ที่นิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือน หรือนำไปบูชาพระ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นต้นไม้ซึ่งอยู่ในสวนสวรรค์ของพระอินทร์ อีกทั้งพิกุลยังเป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแกร่ง และทนทานต่อแทบทุกสภาพแวดล้อม และดอกยังมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ และส่วนต่างๆ ของต้นพิกุล ยังมีสรรพคุณเป็นตัวยาสมุนไพรชั้นดี อีกทั้งเนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้ พิกุลจึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวไทยมาเนิ่นนาน นับแต่อดีตตราบถึงปัจจุบัน