พุดซ้อน
ดอกพุดซ้อน ดอกไม้ประจำวันมาฆบูชา
พุดซ้อน เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณจีนตอนใต้ และในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นจึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เช่นใน เวียดนาม พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินเดีย รวมถึงในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามภาคต่างๆ แต่ทางภาคใต้จะไม่ค่อยพบเห็นมากนัก ทั้งนี้ในปัจจุบันมักจะพบพุดซ้อนได้ตามบริเวณบ้านเรือน หรือสวนหย่อม สวนสาธารณะต่างๆ ส่วนในธรรมชาตินั้นจะพบตามป่าดงดิบแถบภาคเหนือเท่านั้น
คนไทยมีความเชื่อว่า พุดซ้อน เป็นไม้ดอกที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน
มักมีการนำมาใช้ในการร้อยพวงมาลัยถวายพระ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาหรือพิธีมงคลต่างๆ หากบ้านไหนปลูกไว้ในบ้าน จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ คนในบ้านจะอยู่ในศีลธรรมอันดี เพราะคำว่า “พุด” มีความหมายว่า มั่นคง แข็งแรง สมบูรณ์ อีกทั้งต้น พุดซ้อน ยังเป็นไม้ประจำวันของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี และสีขาวของดอกพุด เป็นสีที่จะช่วยเสริมดวง และเป็นสีที่ถูกโฉลกของคนวันพฤหัสบดีด้วย เคล็ดลับสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูก พุดซ้อน ในบ้าน ควรปลูกในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และคนโบราณเชื่อว่าหากต้องการเสริมเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ ควรให้ผู้ชายเป็นคนปลูกจะดีมาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พุดซ้อนจัดเป็นพรรณไม้พุ่มยืนต้น ขนาดเล็ก ทรงกลมหนาทึบ ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นเรียว เปลือกเรียบ ผิวสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายใบเรียว โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนดอก ออกตามซอกใบตลอดทั้งปี สีขาวสะอาด กลิ่นหอมแรงตอนเย็นถึงเช้า ปลายดอกแยกซ้อนกันหลายชั้น มีผลสด รูปไข่ มีเมล็ดจำนวนมาก
สรรพคุณทางยาของพุดซ้อน
– ผลจากต้นมีรสขม สามารถใช้เป็นยาที่มีคุณสมบัติเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน ช่วยแก้อาการกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ
– เนื้อไม้ช่วยลดพิษไข้ แก้ตัวร้อนเมื่อมีไข้สูง
– เปลือกต้น และรากเป็นยาแก้ไข้ ใช้เป็นยาแก้บิด แก้ปวดท้อง
– ใบ ใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะได้
– รากช่วยแก้ผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยแก้ฝีหนองอักเสบ ช่วยแก้อาการปวดบวม ใช้ตำ พอกแผลสด ห้ามเลือด ช่วยสมานบาดแผล
– น้ำคั้นจากดอก นำมาผสมกับน้ำมัน ใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง หรือจะใช้เฉพาะน้ำคั้นจากดอกเพียงอย่างเดียวก็ได้
สรรพคุณของผลพุดซ้อนตามตำราการแพทย์แผนจีน
– กีจื้อ (ผลพุดซ้อน) มีรสขมเย็น มีฤทธิ์ขับความร้อน ระบายความร้อน แก้ไข้ แก้หงุดหงิดกระวนกระวาย ช่วยเสริมความชื้น ทำให้เลือดเย็น แก้เลือดกำเดาไหล แก้ปัสสาวะและอาเจียนเป็นเลือด (เนื่องจากเลือดมีพิษร้อน) แก้ดีซ่าน (ตัวเหลืองจากความร้อนหรือร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี) มีฤทธิ์บรรเทาอาการพิษอักเสบ แก้พิษอักเสบของแผล ฝีอักเสบ อาการบวมจากการกระทบกระแทก ลดบวมจากการอักเสบ ช่วยระงับอาการปวด แก้อาการอักเสบบวมแดง
– กีจื้อผัดและกีจื้อผลพุดซ้อนผัดเกรียม มีวิธีใช้ และสรรพคุณที่เหมือนกัน แต่จะใช้ในกรณีที่ระบบกระเพาะอาหาร และม้าม
– กีจื้อถ่านมีฤทธิ์ห้ามเลือดและทำให้เลือดเย็น ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
ประโยชน์ของพุดซ้อน
1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวนบริเวณบ้านทั่วไป ตัดแต่งทรงพุ่ม และปลูกเป็นแนวรั้วได้ สามารถควบคุมการออกดอกได้ ด้วยการควบคุมการให้น้ำ และการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม อีกทั้งดอกพุดซ้อนยังมีความหมายที่เป็นมงคลอีกด้วย โดยตามความหมายของไทยจะหมายถึง ความแข็งแรง สมบูรณ์ ความเจริญมั่นคง ส่วนตามความหมายของชาวตะวันตก จะหมายถึงรักแท้
2. ดอกนำมาปักแจกันไหว้พระ หรือนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยสำหรับบูชาพระ ส่วนในประเทศจีนจะนำดอกพุดมาอบเป็นชาให้มีกลิ่นหอม
3. ดอกสามารถนำมาสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้
4. ผล และเมล็ด เมื่อนำมาบดจะให้สารสีเหลืองทองชื่อ Gardenia ใช้เป็นสีสำหรับแต่งสีอาหารให้เป็นสีเหลือง (เช่น การใช้ย้อมสีด้านนอกของเต้าหู้แข็ง แต่งสีน้ำเก๊กฮวย ส่วนในประเทศจีนใช้เป็นสีย้อมผ้า) และยังให้สารสีน้ำตาลแดงชื่อ Corcin ใช้สำหรับแต่งอาหารให้มีสีน้ำตาลแดง
5. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำธูป และทำหัวน้ำหอมได้ นอกเหนือจากนั้น ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นยังพบว่า พุดซ้อนมีฤทธิ์เช่นเดียวกับยาไดอะซีแพม หรือยาแวเลียม ที่ช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้น จึงถือเป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่ช่วยในนอนหลับสบาย และผ่อนคลายอารมณ์นั่นเอง