เมนู

ดอกมะลิ มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้น และกึ่งร้อนชื้น ในเอเชีย และคาบสมุทรอาระเบีย เช่น อินเดีย ไทย มาเลเซีย เมียนมา คูเวต โอมาน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และแถบแปซิฟิก โดยพืชในสกุลนี้มีประมาณ 200 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 45 ชนิด และสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

สำหรับมะลิที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด ซึ่งมะลิที่พบเห็นกันแพร่หลายในไทย ได้แก่ มะลิลา มะลิลาซ้อน มะลิถอด มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร มะลิทะเล มะลิเลื้อย มะลิวัลย์ พุทธชาด ปันหยี เครือไส้ไก่ อ้อยแสนสวย และมะลิเขี้ยวงู เป็นต้น

ส่วนแหล่งปลูกมะลิที่สำคัญของไทย ได้แก่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี พิษณุโลก ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น และหนองคาย

มะลิเป็นพันธุ์ไม้ที่มีประวัติผูกพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนาน  โดยมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ดอกมะลิถือเป็นดอกไม้ของวันแม่แห่งชาติ เพราะ มีกลิ่นหอมและยังมีสีขาวบริสุทธิ์ ใช้ทำเป็นพวงมาลัยไหว้พระ รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย และใช้แต่งกลิ่นใบชา, ใช้อบขนมต่างๆ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม

ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิ ในการกระตุ้นระบบประสาท สำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ง่วง ช่วยปรับอารมณ์ และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น หรือจะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปที่ให้นั้นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี และเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกได้ง่าย และเมื่อดื่มน้ำลอยดอกมะลิให้ความรู้สึกสดชื่นอีกด้วย

ในปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น King of essential oils (ส่วนกุหลาบเป็น Queen of essential oils) จัดว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพงที่สุด นำมาใช้แต่งกลิ่นน้ำหอม เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางต่างๆ ใช้ในธุรกิจสปา และใช้เพื่อสุคนธบำบัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพรรณไม้ยืนต้น และเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลางบางชนิดก็มีลำต้นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีความสูงประมาณ1-3 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบๆ ลำต้น ใบเป็นใบเดียวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ๆ ก้าน และกิ่งลักษณะของใบมนป้อม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอด หรือตามง่ามใบดอกเล็กสีขาว  มีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลม หรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นรูปกลมรีเล็ก เมื่อสุกจะมีสีดำภายในมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด นอกจากนี้ลักษณะของลำต้น และดอก แตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์

ประโยชน์หรือสรรพคุณมะลิ

ดอกมะลิ ถูกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน ช่วยนอนหลับ ด้วยรสหอมเย็น ทำให้สดชื่น ชื่นใจ ผ่อนคลาย ทุกบ้านจะใช้ดอกมะลิลอยน้ำใส่ขันไว้รับแขก ไว้ดื่มดับกระหาย แก้อ่อนเพลีย และในทางยาไทย ดอกมะลิ เป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 และ เกสรทั้ง 9 และเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมหลายขนาน

นอกจากการใช้เป็นยาไทย ในศาสตร์สุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม ยังมีการใช้กลิ่นหอมของดอกมะลิ เพื่อบำรุงร่างกาย ปรับสมดุลอารมณ์และจิตใจ แก้ปวดศีรษะ คลายเครียด และช่วยการนอนหลับให้ดีขึ้น

และอีกตำรายาหนึ่งระบุว่า ใบ มีรสฉุนซ่า ใช้แก้ไข้ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ปวดท้อง อึดแน่น ท้องเสีย, ดอก รสฉุน ชุ่ม สุขุม ใช้สมานท้อง แก้บิด ปวดท้อง ผิวหนังเป็นผื่นคัน แผลเรื้อรังต้มน้ำใช้ล้างตา แก้เยื่อตาอักเสบ แช่น้ำมันพืชจนพองตัว ใช้หยอดหูแก้ปวดหู, ราก รสขม สุขุม มีพิษทำให้สลบ แก้ปวดเอ็นขัดยอกเนื่องจากหกล้ม หรือถูกกระทบกระแทก เลือดออกตามไรฟัน ปวดหัว นอนไม่หลับ

ความเชื่อมะลิกับทางพุทธศาสนา

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้อีกชนิดที่ปรากฎอยู่ในพระพุทธประวัติ อาทิเรื่องของนายสุมนมาลาการ ผู้ดูแลสวนดอกไม้ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งนครราชคฤห์ ซึ่งทรงปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะคนแรก นายสุมนมาลาการ มีหน้าที่เก็บดอกมะลิในพระราชอุทธยานส่งขึ้นถวาย พระเจ้าพิมพิสารเป็นประจำทุกวัน

            แต่วันหนึ่งบังเอิญเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จบิณฑบาตรผ่านมา ก็มีปิติศรัทธานำดอกมะลินั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา แทนที่พระเจ้าพิมพิสารจะทรงกริ้วกลับอนุโมทนา และพระราชทานบำเหน็จความชอบ แก่นายสุมนมาลาการผู้นี้ ดอกมะลิที่มีสีขาว และมีความหอม จึงกลายเป็นดอกไม้อีกชนิด สำหรับใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

            ในวัฒนธรรมไทยสามารถนำดอกมะลิมาใช้บูชาพระได้หลายรูปแบบ ปักแจกันใส่พานตั้งบูชา หรือนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทั้งมาลัยกลม มาลัยซีก และมาลัยตุ้ม ในพระราชพิธีของราชสำนัก พบว่ามีการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ในการพระราชกุศลมาฆบูชา ในพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงประทับบนธรรมาสน์เทศน์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงโปรยดอกมะลิจำนวน ๑,๒๕๐ ดอก เป็นการบูชาพระอรหันต์ตามจำนวนที่กล่าวถึงในตำนานวันมาฆบูชา


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า
LINE LOGO SVG แชท