บัวหลวง
![](https://sukoldha.com/wp-content/uploads/2023/01/ดอกบัวที่เราใช้กราบไหว้บูชา-จึงมีความหมาย-และนัยมากกว่าการเป็นเพียงดอกไม้.jpg)
บัวหลวง เป็นพืชน้ำที่มีความสำคัญยิ่ง โดยถือว่าเป็นราชินีแห่งพื้นน้ำที่มีความงาม และประโยชน์นานัปการ นอกจากความสำคัญทางพฤกษชาติแล้ว บัวหลวงยังมีความสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพุทธบูชา จึงนิยมใช้ดอกบัวในการไหว้พระ ทำบุญ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่เป็นมงคล
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของบัวหลวงนั้นอยู่ในแถบเอเชียใต้ (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งบริเวณประเทศไทย) แต่บางตำราระบุว่าบัวหลวงมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แล้วจึงแพร่ขยายมา ถึงทวีปเอเชียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สำหรับในประเทศไทยนั้นบัวหลวงนับเป็นพืชพื้นถิ่นของไทย และเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่บรรพบุรุษของไทยนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในการใช้บริโภค ใช้ในประเพณี และความเชื่อต่างๆ ปัจจุบันสามารถพบเห็นบัวหลวงได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการปลูกเชิงพาณิชย์ในภาคกลาง เช่น อยุธยา, สระบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี เป็นต้น นอกจากนี้บัวหลวงยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดต่างๆ ถึง 5 จังหวัด คือ ปทุมธานี, อุบลราชธานี, หนองบัวลำภู, พิจิตร และสุโขทัย อีกด้วย
![](http://sukoldha.com/wp-content/uploads/2023/03/04-ดอกบัวหลวง.png)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
บัวหลวง เป็นพืชในวงศ์ Nymphaeaceae อยู่ในสกุล Nelumbo เป็นไม้น้ำ และไม้ล้มลุกหลายฤดู มีเหง้า และไหลอยู่ใต้ดิน ฝังตัวอยู่ในโคลนเลน ใบเดี่ยวมีลักษณะกลมใหญ่สีเขียวอมเทา ใบอ่อนจะลอยปิ่มน้ำ ส่วนใบแก่จะชูพ้นน้ำ แผ่นใบเกือบกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-50 ซม. ก้านใบแข็ง มีหนามเล็กๆ เมื่อหักเป็นสายใย และมีน้ำยางขาว ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ มีสีขาว และสีชมพู มีทั้งดอกป้อม และดอกแหลม ก้านดอกแข็งมีหนามเล็กๆ ชูเหนือน้ำ กลีบดอกจำนวนมาก เรียงซ้อนกันหลายชั้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 15-25 ซม. ดอกมีหลายรูปทรง และมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู แล้วแต่พันธุ์
คุณค่าจากส่วนต่างๆ ของบัวหลวง
บัวหลวง นอกจากดอกที่สามารถผลิตเพื่อการค้าได้แล้ว ส่วนต่างๆ ของบัวหลวงก็มีคุณค่าในเรื่องของการประกอบอาหาร และในเรื่องของการนำมาใช้เป็นยา ทางด้านเภสัชวิทยาพบว่า มีสารที่เป็นตัวยาสำคัญๆ เช่น สาร nuciferine มีฤทธิ์กดประสาท ต้านการอักเสบ ลดไข้ แก้ไอ และมีผลใน การยับยั้งการหลั่งสาร serotonin โดยพบว่า
- ดีบัว มีฤทธิ์เพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ
- ฝักบัว ประกอบด้วยสารกลุ่มแอลคาลอย 4 ชนิด ได้แก่ สาร nuciferine, N-nornuciferine liriodenine
และ N-noramepavine และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ คือ quercetin ซึ่งมีฤทธิ์ในการห้ามเลือดได้ - เมล็ดบัว ใช้บำรุงร่างกาย ลดไข้ ซึ่งมีสารสกัดแอลกอฮอล์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัด แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษของตับได้ในขนาด 300 mg/Kg
- เกสรบัว เกสรบัวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากน้ำของเกสรมีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ก่อให้เกิดฝีหนอง เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และสารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อ B-streptococcus group A มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและยีสต์
- ใบบัว มีฤทธิ์ในการลดคลอเรสเตอรอล สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบแห้งมีผลป้องกันไม่ให้ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง และสาร nuciferine มีฤทธิ์ในการกดประสาทต้านการอักเสบ ลดไข้ แก้ไอ มีผลยับยั้งการหลั่งสาร serotonin
- ก้านบัว เป็นสารสกัดแอลกอฮอล์จากก้านดอกในขนาด 200 และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดไข้ในหนูทดลองปกติได้นาน 3 และ 6 ชั่วโมง ตามลำดับ และในหนูที่ทำให้เป็นไข้ด้วยยีสต์ได้นาน 4 ชั่วโมง โดยเปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอล
- รากบัว สามารถแก้อาการท้องเสีย สารสกัดจากเหง้าสามารถลดปริมาณของอุจจาระและการบีบตัวของลำไส้ ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้ามีฤทธิ์ลด น้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารสกัดจากแอลกอฮอล์และสาร betulinic acid สกัดได้จากส่วนของเหง้ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เทียบเท่ายามาตรฐาน phenylbutazone และ dexamethasone สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้ามีผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับ ลดไข้ ลดอาการเกร็งของลำไส้เล็ก
บัวหลวงนับเป็นพันธุ์ไม้น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่า ที่มีประโยชน์ในด้านปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งในด้านการบริโภคโดยตรง หรือการนำมาใช้ในส่วนประกอบของยา ในการรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากคนไทยมองเห็นความสำคัญ และสามารถปรับปรุงพันธ์ุของบัวหลวงให้มีความพิเศษ ในด้านการสกัดสารมาใช้ประโยชน์ บัวหลวง ก็น่าจะเป็นพืชที่มีคุณค่าแก่วงการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
ดอกบัว กับพุทธศาสนา เป็นมากกว่าดอกไม้ที่ความสวยงามเท่านั้น
ดอกบัว กับพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่คู่กันมาโดยตลอด เมื่อเราไปวัด หรือ สถานที่ปฏิบัติธรรม เรามักจะ สังเกตเห็นว่าสิ่งที่พุทธศาสนิกชนนำมากราบไหว้ และถวายบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องมีดอกบัวเป็นดอกไม้พุทธบูชาประเภทหนึ่งอยู่เสมอ และเราก็มักจะได้ยินถึงการเปรียบเทียบดอกบัวกับมนุษย์ที่บอกว่า
บัวนั้นมี ๔ เหล่าหรือ ๔ ประเภท อันได้แก่ บัวก้นบึ้ง บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ และบัวพ้นน้ำ อันมีความหมายแยกแยะได้ดังนี้
- บัวก้นบึ้ง เปรียบเทียบกับ โมฆะบุรุษ มนุษย์ที่เกิดมาสูญเปล่า ไม่รู้ผิดหรือชอบ ไม่เกรงกลัวในบาปกรรม
- บัวใต้น้ำ เปรียบเทียบกับ บุคคลที่ยังรู้ผิดชอบชั่วดีบ้าง มีศีลบ้าง บุคคลกลุ่มนี้หากได้กัลยาณมิตรที่ดี ก็จะมีโอกาส มีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นบัวปริ่มน้ำได้
- บัวปริ่มน้ำ เปรียบเทียบกับ บุคคลที่มีศีล รู้จักการรักษาศีล ๕ ให้คงไว้ รู้จักมีเมตตาเผื่อแผ่ ถือศีล ๕ ได้ครบบ้าง ไม่ครบบ้าง แต่พยายามหมั่นฝึกฝน และมีโอกาสเป็นผู้เจริญแล้วได้ไม่ยาก
- บัวพ้นน้ำ เปรียบเทียบกับ ผู้รักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วน และไม่ละเลยการเพียรทำความดี เป็นผู้เจริญแล้ว
ดอกบัวที่เราใช้กราบไหว้บูชา จึงมีความหมาย และนัยมากกว่าการเป็นเพียงดอกไม้ ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความสวยงามไว้เพียงเท่านั้น หากกล่าวไปถึงในอดีต ดอกไม้หลากหลายชนิดบนโลกใบนี้อาจจะไม่ได้มีไว้เพียงแค่เป็นตัวแทน การกราบไหว้ เคารพนับถือบูชาเท่านั้น