ถ้ำนาคา – อุทยานแห่งชาติภูลังกา
ถ้ำนาคา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการที่พื้นผิวของหินเกิดการกัดกร่อนไปตามปรากฎการณ์ซันแครก (sun crack) ทำให้มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหินทำให้รูปร่างโดยรวมคล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่หรือพญานาค ตามตำนานความเชื่อเรื่องเจ้าปู่อือลือที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคและถูกจองจำจะพ้นคำสาปและทำให้พื้นที่นั้นได้เป็นที่รู้จักและเจริญรุ่งเรือง ก็ต่อเมื่อครบ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการครบรอบการก่อตั้งจังหวัดบึงกาฬ 10 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้มีผู้ได้มาพบเห็นถ้ำแห่งนี้ และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติชั่วคราว (น้ำตกตาดวิมานทิพย์) บ้านตาดวิมานทิพย์ ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันที่มีฝนตกหนัก สามารถขึ้นชมได้ทุกฤดูกาล โดยในแต่ละฤดูกาลจะให้ภาพและบรรยากาศแตกต่างกันไป ในฤดูฝนจะเกิดมอส เฟิน และพืชพันธุ์ต่าง ๆ เกาะตามผิวหินทำให้ดูมีชีวิตชีวา ในฤดูร้อนจะเห็นผิวหินชัดเจน และระหว่างทางจะเต็มไปด้วยบรรดาพืชพันธุ์ดอกไม้ ทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้นที่กำลังออกดอก เช่น ข่อยหิน เต็ง รัง คำมอกหลวง ม้าวิ่ง อะราง ตะแบกเกรียบ เป็นต้น
ระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงถ้ำนาคาประมาณ 1,400 เมตร ทางเดินเป็นทางเดินธรรมชาติ ประกอบด้วย บันไดเป็นช่วง ๆ สลับกับพื้นดิน และมีบางจุดจะต้องดึงเชือกเพื่อช่วยพยุงตัวทั้งตอนขึ้นและลง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ เจดีย์หลวงปู่เสาร์ เจดีย์หลวงปู่วัง ถ้ำหลวงปู่วัง และหัวนาคาที่ 1 เป็นต้น ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 4-5 ชั่วโมงเหมาะแก่ผู้ที่มีสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ตั้งครรภ์ และไม่มีโรคประจำตัว
ความเชื่อถ้ำนาคา
ตามคติชาวบ้านหรือความเชื่อในท้องถิ่นบางส่วนเชื่อว่า พญานาค ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่อือลือ ถูกสาปให้ร่างกลายเป็นหินติดอยู่ในถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อที่ว่า ถ้ำนาคา คือ พญานาค หรือ งูยักษ์ ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหินนั่นเอง ด้วยสาเหตุที่ว่า บริวารของพญานาค ผู้ครองเมืองบาดาล ไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ และเมืองบาดาลที่พญานาคและบริวาร อาศัยอยู่ก็คือ บึงโขงหลง ในจังหวัดบึงกาฬปัจจุบัน โดยตำนานเล่าขานว่าแต่เดิมนั้นปู่อือลือ เป็นเทพเจ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า จากนั้นก็ถูกสาปลงมาให้เป็นพญานาค ปกครองอยู่ที่เมืองบาดาลที่บึงโขงหลง หรือ จ.บึงกาฬ ซึ่งมีทั้งพญานาคและมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลนี้ ต่อมาผู้คนในเมืองบาดาล ทั้งมนุษย์และพญานาค เกิดกิเลสสมสู่ชอบพอกันเอง เมื่อปู่อือลือพญานาคทราบเรื่อง ก็เกิดความโมโหให้กับบริวาร ที่ไปรักใครกับมนุษย์ จากนั้นจึงสาปให้บริวารกลายเป็นหินอยู่ในถ้ำ โดยบริวารที่ถูกสาปนั้นก็มีอยู่ทั่วเมืองบึงกาฬ และมีอยู่หลายที่เพื่อให้ปกป้องมนุษย์และเป็นสิ่งศักกสิทธิ์ที่คนกำลังให้ความนิยมและความสำคัญถึงความอัศจรรย์ของถ้ำนาคาอย่างมากในปัจจุบัน
จุดเด่นและจุดสำคัญของถ้ำนาคา
ภายในถ้ำที่มีลักษณะผนังคล้าย เกล็ดของพญานาค กำลังนอนขดตัวอยู่นั่นแสดงว่า เราได้มาถึงถ้ำนาคากันแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญนั่นก็คือ เศียรของพญานาค มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่สีน้ำตาล มีเกล็ดและรูปร่างคล้ายเศียรของพญานาค เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมากราบไว้บูชาเพื่อขอโชค ขอลาภ เสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต โดยสถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างพากันมาชื่นชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ และขอพรที่ถ้ำนาคาแห่งนี้ตามความเชื่อโบราณว่า ที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคอยู่ร่วมกันกับมนุษย์คอยปกป้องรักษาไม่ให้เกิดอันตราย เรียกได้ว่าว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองให้ได้สักครั้งในชีวิตเลย
วีธีการจองคิว ถ้ำนาคา
- จองคิวผ่านแอป “QueQ” โดยจองก่อนมายังถ้ำนาคา 15 วัน กรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน(แต่ตอนนี้คิวเยอะมากเจ้าหน้าหน้าที่จึงเปิดให้จองล่วงหน้าสองถึงสามเดือน)
- ถึงวันเจ้าหน้าที่จะขอดูข้อมูลการลงทะเบียนใน แอป “QueQ” เมื่อลงเสร็จอย่าพึ่งลบแอปออกเก็บไว้ก่อน หรือแคปภาพหน้าจอเอาไว้ เพราะเมื่อมาถึงบริเวณถ้ำนาคาแล้วจะไม่มีสัญญาณมือถือ
โดยถ้ำนาคา เปิดเวลา 06:30-14:00 น เปิดรับนักท่องเที่ยววันละ 350/วัน ทุกคนที่ขึ้นไปจะต้องมีไกด์ไปด้วยนะ ต้องเป็นไกด์จากที่ถ้ำนาคาของทางอุทยาน ซึ่งควรติดต่อล่วงหน้าก่อนมานะทุกคน เพื่อความรวดเร็ว เพราะตอนนี้คิวไกด์แน่นมาก ที่สำคัญต้องทำการลงทะเบียนก่อนเข้าจังหวัดบึงกาฬที่ลิงค์ https://bkpho.moph.go.th/ แล้วเข้ารายงานตัวที่ด่านชุมชนในพื้นที่โดยมีเอกสารรับรองดั้งนี้
- ผลตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR หรือ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง
- ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Sinovac/Sinopharm/Astrazeneca/) ครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ (Johnson & Johnson/pfizer/Moderna) 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
โดยจะต้องนำหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่อุทยานที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ณ จุดลงทะเบียน
การเตรียมตัวและอุปกรณ์
แต่งตัวให้พร้อมเดินป่า น้ำดื่มอย่างน้อย 2 ขวด เกลือแร่ ใส่ “กระเป๋าสะพายหลัง” หรือ กระเป๋าที่ไม่ต้องใช้มือหิ้ว ยาดม ยาหม่อง และผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง (ถุงมือกับเสื้อกันฝนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว เนื่องจากบริเวณด่านลงทะเบียนขึ้นถ้ำนาคามีถุงมือขาย นักท่องเที่ยวสามารถอุดหนุนสินค้าอุทยานเพื่อเป็นช่วยส่งเสริมด้านสวัสดิการเจ้าหน้าที่อุทยานได้)
**** ห้ามนำกระดาษทิชชู่ หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเซ่นไหว้ ขึ้นเขาโดยเด็ดขาด
**** เตรียมเงิน 100 บาทเพื่อลงทะเบียนมัดจำขยะที่ด่านทางขึ้น
กฎมาตรการเที่ยวถ้ำนาคา
- ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมในถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อย เสาหิน ฯลฯ
- ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ
- ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ
- ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใดๆ
- ห้ามทำเสียงดังหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์ รวมทั้งห้ามยิงปืน จุดประทัด และวัตถุระเบิด
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ
- ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือพ่นสี หรือปิดประกาศ
- ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ
- ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใดๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผนึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ
- ห้ามกระทำการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
- ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
- ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด
- ไม่แตะต้อง และ/หรือ ทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ
- ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดี หรือซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ
- ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก/ปลอดภัยเท่าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติในถ้ำ
- ให้มีผู้นำเที่ยวท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
Cr. http://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=26481
https://th.trip.com/hot/articles/ที่สุดแห่งศรัทธา+“ถ้ำนาคา”+เมืองพญานาค+จังหวัดบึงกาฬ.html#67or3