เมนู

วัดสวนดอก 

พระอารามหลวงของเมืองเชียงใหม่

ความเป็นมาของชื่อวัด พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ได้ทรงพระราชทานอุทยานสวนดอกไม้ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า บริเวณอุทยาน สวนดอกไม้นี้ เต็มไปด้วยต้นพะยอม หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สวนดอกไม้พะยอม” เป็นที่สร้างวัด พร้อมกับ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดบุปผาราม” ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ต่อมานิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดสวนดอก” วัดสวนดอกในอดีตนั้นเป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร) ในสมัย ราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด วัดสวนดอก ต่อได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

สิ่งน่าสนใจภายในวัดสวนดอก

พระวิหารหลวงใหญ่ที่สุดในล้านนา

เป็นวิหารหลังใหญ่มากๆ ใหญ่ที่สุดในล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยเจ้าแก้วนวรัฐ และครูบาศรีวิชัย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสถาปัตยกรรมล้านนาขนาดใหญ่มาก กว้าง 25 เมตร ยาวถึง 66 เมตร หน้าบันไดเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและเทพพนมที่สวยงาม จุดเด่นของวิหารหลังนี้คือเป็นวิหารโถง ไม่มีฝาผนัง มีแต่เหล็กดัดกันขโมยโล่งๆ (ในอดีตคงไม่ได้ติดเหล็กดัดกันขโมย) ภายในประดิษฐานพระประธาน “พระเจ้าค่าคิง” พระพุทธรูปปางสมาธิ

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

การมาของพระบรมสารีริกธาตุ จากปางจาสู่ล้านนา ปี 1912 และกลายเป็นจุดเรื่มต้นของความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พุทธศาสนาในล้านนาพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระอารามหลวง” โดยโปรดเกล้าให้สร้าง “พระเจดีย์ทรงลังกา” ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าเก้าตื้อ

พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 “พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระ องค์ประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระพุทธปฏิมาค่าคิง

พระพุทธปฏิมาค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

ถ้าจะรู้จักเชียงใหม่ ต้องรู้จักต้นตระกูลเชียงใหม่ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริใน พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของวัดสวนดอกกว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่ รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจาก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 กู่บรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งในช่วงจัดงานประเพณีปีใหม่เมือง ก็จะมีการบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณของเจ้าผู้ครองนครและเชื้อพระวงศ์ ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า
LINE LOGO SVG แชท